ตรวจอาการ: โรคปริทันต์อักเสบ PeriodontitisPeriodontitis หรือโรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน โดยการอักเสบจะลุกลามจากเหงือกไปยังเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่รอบฟัน ซึ่งถือเป็นระยะรุนแรงของโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรได้การรักษาโดยเร็ว เนื่องจากการอักเสบและการติดเชื้อเรื้อรังอาจสร้างความเสียหายแก่เหงือก ฟัน รากฟัน เส้นประสาท และอาจนำไปสู่การสูญเสียฟันได้
สาเหตุหลักของโรคปริทันต์อักเสบมาจากขาดสุขอนามัยที่ดีภายในช่องปาก ขณะเดียวกันปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ได้ วิธีการรักษาโรคนี้อาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่มักทำร่วมกับการขูดหินปูนและเกลารากฟันเป็นหลัก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อปรับแต่งโครงสร้างเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน และถอนฟัน
โรคปริทันต์อักเสบมีทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบระยะเริ่มต้น โรคปริทันต์อักเสบระยะกลาง และโรคปริทันต์อักเสบระยะปลาย
อาการของ Periodontitis
การอักเสบภายในช่องปากอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้
มีกลิ่นปาก
เหงือกแดง คล้ำ และดูมันวาวกว่าปกติ
เหงือกบวม เหงือกอักเสบ เหงือกร่น เหงือกเป็นหนอง
รู้สึกรสชาติในปากผิดปกติ
เจ็บเหงือกเมื่อสัมผัสหรือเจ็บเหงือกขณะเคี้ยว
ฟันมีคราบสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาลเกาะ
เสียวฟัน
มีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย โดยเฉพาะตอนแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
ฟันโยก ฟันเคลื่อน และฟันห่าง
แม้ว่าโรคนี้ส่วนใหญ่อาจไม่ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ส่งผลกระทบต่อการเคี้ยวอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น หากพบอาการใดอาการหนึ่งในข้างต้น ควรไปพบทันตแพทย์
สาเหตุของ Periodontitis
สาเหตุหลักของโรคปริทันต์อักเสบมาจากการสะสมของคราบหินปูน ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อเนื้อเยื่อรอบซี่ฟัน อย่างเหงือก กระดูกเบ้าฟัน และเส้นประสาท โรคปริทันต์อักเสบมีหลายชนิด อาจแบ่งได้ตามลักษณะอาการและสาเหตุ โดยชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่
โรคปริทันต์อักเสบชนิดเรื้อรัง
Periodontitis ชนิดนี้พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ แต่สามารถพบในเด็กได้ สาเหตุเกิดจากการสะสมของคราบพลัค (Plaque) หรือคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน ซึ่งคราบเหล่านี้ในระยะยาวจะทำลายความแข็งแรงของฟันจนลุกลามไปยังเหงือกและกระดูกเบ้าฟันที่เป็นฐานรองของทั้งเหงือกและฟัน
โรคปริทันต์อักเสบชนิดรุกราน (Aggressive Periodontitis)
Periodontitis ชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้น้อย แต่อาจพบได้ในกลุ่มเด็กและวัยผู้ใหญ่ช่วงต้น มักส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเหงือก ฟัน และส่วนประกอบภายในช่องปากที่อยู่ใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว
โรคปริทันต์อักเสบชนิดเนื้อตาย (Necrotizing Periodontal)
Periodontitis ชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อในช่องปากอย่างรุนแรง ทำให้บริเวณเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ภายในช่องปากขาดเลือด อย่างเหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อตายและอาการของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคปริทันต์ชนิดนี้เกิดระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร การติดเชื้อเอชไอวี การใช้ยาบางชนิด การรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคปริทันต์อักเสบได้มากขึ้น เช่น
การดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากที่ไม่เหมาะสม
กรรมพันธุ์
อายุที่เพิ่มขึ้นและภาวะหมดประจำเดือน
การสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด
การตั้งครรภ์และการใช้ยาคุมกำเนิดที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย
ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อระบบภูมิต้านทาน เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) การติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ ผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
โรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคเหงือกอักเสบ ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะขาดวิตามินซี โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคโครห์น เป็นต้น
การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่ส่งผลกระทบต่อเหงือกหรือทำให้ปากแห้ง
การวินิจฉัย Periodontitis
ขั้นแรกทันตแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพ การใช้ยาหรืออาหารเสริมในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด จากนั้นจะตรวจภายในช่องปากเพื่อหาสัญญาณของโรค เช่น คราบพลัค คราบหินปูน อาการเหงือกร่นหรือเหงือกบวม เป็นต้น
ขั้นตอนถัดไป ทันตแพทย์จะตรวจความลึกของร่องเหงือกหรือความห่างระหว่างเหงือกและส่วนรอบของฟันส่วนล่าง หากมีความลึกมากกว่าเกณฑ์ก็อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับอาการอื่น ๆ ที่พบด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อช่วยให้เห็นลักษณะโครงสร้างฟันและกระดูกรอบๆ ได้ชัดเจนขึ้น
การรักษา Periodontitis
ขั้นตอนในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบอาจขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก ดังนี้
Periodontitis ชนิดไม่รุนแรง
การรักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดไม่รุนแรงมีจุดประสงค์เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น อย่างการขูดหินปูนและเกลารากฟันที่จะช่วยกำจัดคราบพลัค คราบหินปูน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก
ภายหลังจากการขูดหินปูนและเกลารากฟัน ทันตแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาทาภายในช่องปาก ยาเม็ด หรือน้ำยาบ้วนปากเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก ผู้ป่วยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากใช้ไม่ครบตามที่แพทย์แนะนำอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและเกิดการติดเชื้อซ้ำตามมาได้
Periodontitis ชนิดรุนแรง
การรักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด เพื่อรักษาและปรับแต่งโครงสร้างภายในช่องปากที่ได้รับความเสียหาย เช่น
การผ่าตัดลดขนร่องเหงือก (Flap Surgery) เพื่อช่วยลดระยะห่างของเหงือกและฟัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เศษอาหารจะตกลงไปในร่องเหงือกจนยากต่อการทำความสะอาดยาก ทำให้ติดเชื้อรุนแรงขึ้น
การผ่าตัดเพื่อรักษาและปกปิดร่องรอยอาการเหงือกร่น (Soft Tissue Grafts) ที่เกิดจากโรคปริทันต์อักเสบ โดยทันตแพทย์จะปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือกจากส่วนอื่นมายังบริเวณที่เหงือกร่น เพื่อทำให้ขอบเหงือกของฟันแต่ละซี่ดูเรียบเสมอกัน
การปลูกถ่ายกระดูกเบ้าฟันบริเวณรอบ ๆ รากฟันที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ (Bone Grafting) โดยการปลูกถ่ายจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนกระดูกขนาดเล็กของผู้ป่วยหรือได้รับจากการบริจาคมาใช้ในการปลูกถ่าย ซึ่งการปลูกถ่ายกระดูกจะช่วยให้ฟันแข็งแรง ไม่โยก และลดความเสี่ยงในการสูญเสียฟัน
Guided Tissue Regeneration คือ เทคนิคการชักนำให้เนื้อเยื่อคืนสภาพ โดยทันตแพทย์จะปลูกถ่ายวัสดุทางการแพทย์ตรงบริเวณกระดูกที่เหลือและฟัน เพื่อกระตุ้นให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นประสานกัน โดยไม่มีเนื้อเยื่ออื่นรบกวน ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายคืนสภาพได้
การผ่าตัดเพื่อแต้มหรือทายาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบริเวณรากฟัน (Tissue-stimulating Proteins) เพื่อกระตุ้นการสร้างเคลือบฟันและกระดูกเบ้าฟัน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องถอนฟันหากฟันตายหรือมีการติดเชื้อที่รุนแรง รวมทั้งภายหลังจากการรักษา ทันตแพทย์อาจนัดติดตามอาการของผู้ป่วยอยู่เป็นระยะ
ภาวะแทรกซ้อนของ Periodontitis
หากไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง นอกจากความเจ็บปวดจากอาการของโรคแล้ว โรคปริทันต์อักเสบอาจนำไปสู่การสูญเสียฟัน กระดูกขากรรไกรติดเชื้อ ฝีที่ฟัน เป็นแผลเปื่อยในปาก ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนลุกลามไปยังกระแสเลือดและทำให้เกิดการติดเชื้อตามระบบอวัยวะต่าง ๆ ในรายที่ร้ายแรง อวัยวะอาจล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิต
นอกจากนี้ อาการของโรคอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น มีกลิ่นปาก ลักษณะของฟันและเหงือกผิดปกติ สูญเสียฟัน กระทบต่อการรับประทานอาหาร และความมั่นใจลดลง
การป้องกัน Periodontitis
วิธีป้องกันโรคปริทันต์อักเสบที่มีประสิทธิภาพ คือ การดูแลรักษาช่องปากอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการสะสมของคราบพลัค หินปูน และเชื้อโรค โดยการแปรงฟันด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้ ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูน
สำหรับผู้ที่ความเสี่ยงของโรคปริทันต์อักเสบ เช่น ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ หรืออื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดความเสี่ยงจากโรค