ซ่อมบำรุงอาคาร: 10 สารพันปัญหาในห้องน้ำ ซ่อมแซมอย่างไร เป็นกันบ้างหรือเปล่า บ้านที่อยู่อาศัยได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มมีปัญหาให้ต้องซ่อมแซมกัน ไม่ว่าจะเป็นหลังคา ไฟฟ้า ท่อน้ำ ซึ่งห้องน้ำก็เป็นอีกห้องที่มีปัญหาให้ต้องซ่อมแซมอยู่บ่อย ๆ สำหรับวันนี้เราได้รวบรวม 10 สารพันปัญหาที่มักเกิดขึ้นในห้องน้ำ พร้อมแนวทางแก้ไข ซ่อมแซมมาให้
1. ห้องน้ำมีกลิ่น
สาเหตุที่ 1: น้ำในถ้วยของตะแกรงกันกลิ่นแห้ง/ สกปรก
แนวทางแก้ไข: ทำความสะอาดถ้วยน้ำในตะแกรงกันกลิ่น
สาเหตุที่ 2: น้ำ P-Trap หรือ U-trap แห้งหรือมีสิ่งสกปรก
แนวทางแก้ไข: ให้ตรวจสอบรอยรั่ว รอบ ๆ P-trap หรือ U-trap หากพบรอยรั่วให้ทำการแก้ไขโดยการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือถ้าพบว่ามีสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ใน P-trap หรือ U -trap ให้ทำความสะอาด
สาเหตุที่ 3: กดชำระล้างจากโถปัสสาวะไม่สะอาด
แนวทางแก้ไข: กดน้ำเพื่อชำระให้นานมากขึ้น (น้ำที่กดชำระจะต้องไปแทนน้ำที่อยู่ใน P trap หรือ U trap เดิม จึงจะสามารถช่วยลดกลิ่นได้) หากกลิ่นยังอยู่ควรถอดชุดดักกลิ่นออกมาเพื่อล้างทำความสะอาด
สาเหตุที่ 4: จุลินทรีย์ในถังบำบัดเหลือน้อย
แนวทางแก้ไข: เติมจุลินทรีย์ลงในถังบำบัด
สาเหตุที่ 5: ไม่มีประเก็นกันกลิ่นระหว่างท่อชักโครกกับท่อระบายน้ำ
แนวทางแก้ไข: อาจเป็นส่วนที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด เนื่องจากจุดติดตั้งอยู่ในชักโครก สังเกตโดยหากมีรอยหลุดร่อนของยาแนวระหว่างชักโครกและพื้น แล้วมีน้ำซึมออกมา ให้สันนิษฐานได้ว่าประเก็นกันกลิ่นชำรุดหรือช่างไม่ได้ติดตั้ง การแก้ปัญหาต้องให้ช่างผู้ชำนาญดำเนินการติดตั้ง
2. ก๊อกน้ำมีน้ำหยด
สาเหตุ: แหวนรองในเสื่อมสภาพ
แนวทางแก้ไข: โดยทั่วไปแหวนรองในมี 2 ประเภท คือแหวนรองในแบบยางและแหวนรองในแบบเซรามิก ซึ่งแหวนรองในแบบยางหากเสื่อมสภาพสามารถเปลี่ยนได้ แต่แหวนรองในแบบเซรามิกต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งชุด
3. ปัญหารอยรั่วขอบอ่างและสุขภัณฑ์
สาเหตุ: ปูนยาแนวระหว่างสุขภัณฑ์กับพื้นเสื่อมสภาพ
แนวทางแก้ไข: ขูดยาแนวเก่าออกให้หมดแล้วจึงทำความสะอาดด้วยฟองน้ำ ยาแนวด้วยซิลิโคนกันน้ำให้โดยรอบ (ต้องสวมถุงมือระหว่างการทำงานด้วย)
4. ปุ่มกดชักโครกค้าง
สาเหตุที่ 1: แกนเหล็กและโซ่อาจพันกัน
แนวทางแก้ไข: หากเกิดจากแกนเหล็กและโซ่ภายในถังเก็บน้ำพันกันให้ลองจัดวางใหม่
สาเหตุที่ 2: ปุ่มกดน้ำชำรุด
แนวทางแก้ไข: เปลี่ยนอุปกรณ์อะไหล่
5. กดชัดโครกแล้วน้ำเอ่อล้นออกมา
สาเหตุ: ตำแหน่งท่อที่ระบายน้ำออกจากชักโครกกับท่อระบายน้ำไม่ตรงกัน ทำให้ทางระบายน้ำไม่สะดวกจึงทำให้นำเอ่อล้นออกมา
แนวทางแก้ไข: ต้องทำการปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ดำเนินการติดตั้งเพื่อให้ท่อทั้ง 2 จุดตรงกัน
6. มีน้ำซึมออกมาจากถังเก็บน้ำ
สาเหตุ: สายยางหรือแหวนรองในถังเก็บน้ำชำรุดหรือเสื่อมสภาพ
แนวทางแก้ไข: เปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นนั้น ๆ ใหม่
7. น้ำหยดออกจากส่วนข้อต่อต่าง ๆ
สาเหตุ: สายยางหรือแหวนรองในถังเก็บน้ำชำรุดหรือเสื่อมสภาพ
แนวทางแก้ไข: ตรวจสอบการเสื่อมสภาพของข้อต่อ และทำการติดตั้งข้อต่อใหม่โดยใช้เทปพันเกลียวและกาว แต่หากน้ำซึมออกจากข้อต่อระหว่างสายยางและสุขภัณฑ์ ให้ตรวจสอบแหวนรองในข้อต่อนั้น ๆ
8. เทอร์โมสตัทเครื่องทำน้ำอุ่น ทริปบ่อย
สาเหตุ: ติดตั้งผิด แบบที่ไม่ต่อสายน้ำเข้า หรือเทอร์โมสตัทเกิดเสียจากการใช้งานที่มีน้ำค้างอยู่ในหม้อต้มนานเกินไป
แนวทางแก้ไข: เปลี่ยนอุปกรณ์เฉพาะจุดที่เกิดปัญหา
9. ไฟไม่เข้าเครื่องทำน้ำอุ่น
สาเหตุ: เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องเกิดการชำรุด
แนวทางแก้ไข: ปัญหานี้ต้องอาศัยช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความชำนาญมาทำการตรวจสอบ และสามารถแก้ไขได้โดยเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในเครื่อง ไม่แนะนำให้ทำเองหากไม่มีความชำนาญในการตรวจสอบ เพราะอาจกลายเป็นการสร้างความเสียหายมากกว่าเดิม
10. เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ร้อน
สาเหตุที่ 1: ขดลวดร้อนชำรุด/ ตัวปรับบอุณหภูมิชำรุด
แนวทางแก้ไข: ปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการแก้ไข
สาเหตุที่ 2: จุกแม่เหล็กภายในเครื่องที่มีหน้าที่ในการเปิด-ปิดกระแสไฟเพื่อทำความร้อนชำรุด
แนวทางแก้ไข: สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์เฉพาะส่วน