หมอประจำบ้าน: โรคเพลแลกรา (Pellagra)Pellagra หรือโรคเพลแลกรา คือโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) และทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งทำให้เกิดอาการ 3 กลุ่ม ได้แก่ อาการทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
Pellagra เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ได้รับอาหารที่มีไนอะซินและทริปโตเฟนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่อาจพบในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไนอะซินไปใช้ได้ ซึ่งการรักษาโรค Pellagra มักให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 3 ควบคู่กับการปรับอาหารให้ร่างกายได้รับไนอะซินเพียงพอ
อาการของ Pellagra
ผู้ป่วยโรค Pellagra ส่วนมากมักมีอาการผื่นผิวหนัง ปวดท้อง แต่หากไม่ได้รับการรักษา ในระยะหลังจะมีอาการความจำเสื่อม บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่
อาการทางผิวหนัง
ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังต่าง ๆ ดังนี้
ผิวไวต่อแสง เช่น ผิวแดงและไหม้ง่ายหลังถูกแสงแดด เกิดจุดด่างดำ แห้งลอก โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่นอกร่มผ้าและถูกแสงแดดบ่อย เช่น ใบหน้า ลำคอ หลังมือ ท้องแขน ขา และเท้า
ผิวหนังบริเวณข้อศอก เข่า และตาตุ่มหนาตัวขึ้นหรือเกิดเม็ดสีผิดปกติ
ลิ้น เหงือก และเยื่อบุภายในช่องปากอักเสบ ทำให้มีอาการบวมแดง แห้งแตก เป็นแผล และอาจทำให้ลิ้นมีลักษณะเรียบกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการมุมปากอักเสบ หรือปากนกกระจอก (Angular Cheilitis)
ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักเปลี่ยนเป็นสีแดง แตก หรือเปื่อยยุ่ย และเยื่อบุช่องคลอดอักเสบ
มีความผิดปกติของต่อมไขมัน ได้แก่ ต่อมไขมันอักเสบและต่อมไขมันโต (Sebaceous Hyperplasia) ซึ่งทำให้เกิดขุยแห้งสีเหลืองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก ใบหน้า และจมูก
อาการทางระบบทางเดินอาหาร
อาการทางระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วย Pellagra อาจเริ่มจากอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงท้องเสียซึ่งจะเป็นเรื้อรัง โดยผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะถ่ายเหลวหรือถ่ายมีมูกเลือดปน
อาการทางประสาท
หากผู้ป่วยโรค Pellagra ไม่ได้รับการรักษา ในระยะหลังอาจมีอาการทางประสาทต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เซื่องซึม ฉุนเฉียวง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย สับสน และความจำแย่ลง อาจนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมได้
ทั้งนี้ หากปล่อยให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
สาเหตุของ Pellagra
โรค Pellagra เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 หรือไนอะซิน ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อร่างกาย โดยช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร และผิวหนัง หากได้รับไนอะซินไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรค Pellagra ได้ ซึ่งสาเหตุของการขาดไนอะซินแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก ดังนี้
1. การรับประทานอาหารที่มีไนอะซินไม่เพียงพอ
ร่างกายได้รับไนอะซินส่วนหนึ่งจากอาหารต่าง ๆ เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ถั่วและธัญพืช และอีกส่วนหนึ่งได้จากการสังเคราะห์ขึ้นจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) การรับประทานอาหารที่มีปริมาณไนอะซินต่ำจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายได้รับไนอะซินไม่เพียงพอ และทำให้เกิดโรค Pellagra ขึ้น
2. โรคและความผิดปกติของร่างกาย
ร่างกายของผู้ป่วยบางคนไม่สามารถดูดซึมไนอะซินได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
ภาวะติดสุรา (Alcoholism)
โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ภาวะท้องเสียเรื้อรัง โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำไส้เล็ก (Whipple's Disease) และโรคโครห์นโรคโครห์น (Crohn’s Disease)
ความผิดปกติทางการกิน อย่างอะนอเร็กเซีย (Anorexia)
ตับแข็ง (Liver Cirrhosis)
กลุ่มอาการคาร์ซินอยด์ (Carcinoid Syndrome) ซึ่งเกิดจากเนื้องอกบริเวณปอดและทางเดินอาหาร
โรค Hartnup ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถดูดซึมกรดอะมิโนบางชนิดได้
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก (Anticonvulsant) และยากดภูมิคุ้มกัน
การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery)
การวินิจฉัย Pellagra
Pellagra เป็นโรคที่มีอาการหลากหลายจึงอาจวินิจฉัยได้ยาก ซึ่งแพทย์อาจสอบถามอาการและอาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน จากนั้นจึงตรวจอาการทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท
ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีการตรวจอื่นเพื่อตรวจปริมาณไนอะซินในร่างกาย เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนัง (Skin Biopsy) ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจช่วยในการตัดโรคที่ไม่เกี่ยวข้องออก และใช้ประเมินอาการของผู้ป่วยหลังได้รับอาหารเสริมไนอะซิน
การรักษา Pellagra
การรักษาโรค Pellagra มีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณไนอะซินในร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติ โดยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน ควบคู่กับการรับประทานอาหารเสริมไนอะซินหรือนิโคทินาไมด์ (Nicotinamide) ซึ่งเป็นไนอะซินรูปแบบหนึ่ง และผู้ป่วยบางรายอาจต้องฉีดไนอะซินเข้าทางหลอดเลือดดำ
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานนิโคทินาไมด์อย่างน้อย 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานและรับประทานติดต่อกัน 3–4 สัปดาห์
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว แพทย์จะให้รักษาโรคที่เป็นปัจจัยของโรค Pellagra ควบคู่ไปด้วย เพื่อทำให้อาการโดยรวมของผู้ป่่วยดีขึ้นไปพร้อมกัน
หากได้รับการรักษาเร็วตั้งแต่เริ่มเป็น อาการท้องเสียและเยื่อบุผิวหนังอักเสบมักดีขึ้นได้ภายในไม่กี่วันหลังเริ่มรักษา สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนัง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาทาผิวเพื่อรักษาโรคและเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งอาการทางผิวหนังจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2–3 เดือน โดยในระหว่างการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ผู้ป่วยควรดูแลผิวให้ชุ่มชื้นและทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันผิวแห้งแตกและผิวไหม้แดด
ภาวะแทรกซ้อนของโรค Pellagra
โรค Pellagra อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายประการ ได้แก่ ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) และภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia) การติดเชื้อที่ผิวหนัง ไปจนถึงอาการทางประสาท เช่น หลงผิด (Delusion) ประสาทหลอน โรคจิต (Psychosis) และอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การป้องกันโรค Pellagra
โรค Pellagra สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีไนอะซินเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค Pellagra โดยข้อมูลสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคประจําวันของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไประบุว่า ควรได้รับไนอะซิน 20 มิลลิกรัม เอ็น อี (mg NE) ต่อวัน ซึ่งไนอะซิน 1 มิลลิกรัม เท่ากับทริปโตเฟน 60 มิลลิกรัม
โดยทั่วไปการรับประทานอาหารที่มีไนอะซินสูง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ทูน่า แซลมอน และตับ รวมทั้งถั่ว ธัญพืชขัดสีน้อย ข้าวกล้อง เห็ด และอโวคาโด จะช่วยให้ร่างกายได้รับไนอะซินอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมไนอะซิน นอกจากกรณีที่แพทย์สั่ง ซึ่งควรรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากอาหารเสริม